Friday, 3 May 2024

หอพระสูง นครศรีธรรมราช

17 Feb 2024
92

พระวิหารสูง หรือหอพระสูง เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองโบราณนครศรีธรรมราชด้านทิศเหนือในบริเวณสนามหน้าเมือง ใกล้สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถนนราชดำเนิน เรียกชื่อตามลักษณะของการก่อสร้างของพระวิหารซึ่งสร้างบนเนินดินที่สูงกว่าพื้นปกติถึง 2.10 เมตร ไม่ปรากฏหลักฐานแสดงประวัติอย่างแท้จริง แต่สามารถสันนิษฐานจากลักษณะของสถาปัตยกรรม และจิตรกรรมฝาผนังว่าสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นแกนดินเหนียว สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 23–24 หรือในสมัยอยุธยาตอนปลาย

ยังไม่ปรากฏหลักฐานทางเอกสารแน่ชัดเกี่ยวกับประวัติการสร้างหอพระสูงแห่งนี้ แต่มีเรื่องเล่าของชาวบ้านที่บอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่า เนินดินขนาดใหญ่เป็นที่ประดิษฐานหอพระสูงนั้น ชาวบ้านได้ช่วยกันขุดดินจากบริเวณคลองหน้าเมืองมาถมเป็นเนินขนาดใหญ่เพื่อใช้ตั้งปืนใหญ่ในการสกัดกั้นทัพพม่า ในคราวที่ได้มีการยกทัพใหญ่ลงมาตีหัวเมืองหน้าด่านต่าง ๆ ทางภาคใต้ ตั้งแต่มะริด ถลาง ไชยา จนถึงนครศรีธรรมราช บริเวณสนามหน้าเมืองน่าจะเป็นสนามรบและตั้งทัพตามกลยุทธ์ในการจัดทัพออกศึก เพื่อต่อสู้ประจัญบาน ต่อมาบริเวณแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ได้มีการก่อสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นที่เคารพสักการะบูชา และได้สร้างวิหารครอบองค์พระพุทธรูปในเวลาต่อมา

รูปแบบสถาปัตยกรรม เป็นอาคารทรงไทยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐถือปูนขนาดกว้าง ๕.๙๐ เมตร ยาว ๑๓.๒๐ เมตร สูง ๓.๕๐ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผาผนังด้านข้างเยื้องมาทางด้านหน้าทั้งสองด้านเจาะเป็นกรอบหน้าต่าง ทำช่องรับแสงในกรอบเป็นรูปกากบาท ฐานชั้นล่างก่อด้วยอิฐเป็นตะพัก ๔ ชั้น ด้านหน้าทางขึ้นเป็นบันไดต่อจากเนินเข้าไปยังพระวิหาร

รูปแบบประติมากรรม ได้แก่ องค์พระพุทธรูปประธาน ปางมารวิชัย แกนพระพุทธรูปทำด้วยดินเหนียวโบกปูนปั้น องค์พระภายนอกขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๔๐ เมตร สูง ๒.๘๐ เมตร ลักษณะอวบอ้วน พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เป็นรูปคันศร พระศอเป็นริ้ว พระกรรณห้อยต่ำอยู่ใต้พระศก พระเกศาเกล้าเป็นมวย เม็ดพระศกเป็นขมวดปนเล็ก ยอดพระเกตุมาลาอาจหักหายไปครองผ้าสังฆาฏิเฉียงจากพระอังสาซ้ายมาจรดพระนาภี ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงวินิจฉัยว่าควรจัดอยู่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๔ สมัยอยุธยาตอนปลาย หรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ทางด้านหลังขอหอพระสูงพบพุทธรูปหินทรายแดง ปางมารวิชัย เศียรหักหายไป ส่วนฐานมีจารึกภาษาขอม รูปแบบจิตรกรรมฝาผนัง เขียนเป็นรูปดอกไม้ห้อยลง กลีบดอกเขียนด้วยสีน้ำตาลจำนวน ๘ กลีบ ด้านดอกเขียนสีน้ำเงินหรือสีคราม ส่วนก้านเกสรเป็นลายไทย ดูอ่อนช้อยสวยงาม ส่วนใต้ฐานพระพุทธรูปเป็นลายจีน เข้าใจว่าคงเขียนขึ้นภายหลัง รูปแบบของจิตรกรรมฝาผนังคล้ายงานเขียนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่มีอิทธิพลจีนเข้ามาปะปนผสมกับลวดลายไทย

OPEN NETWORK WEBSITE : OPEN x World l OPEN x Thailand l OPEN x Esan l PRO PANG PANG l BE Thailand l HISO Promotion l Trip Agoda l Thailand Can Do l My Idea Online l ETHAILAND LAW l Rentor Sale Property l Healthy And Foods l Thailand Sport Magazine l 108 Service l Thai Government DB l Thai Service DB l Thai Travel DB l Thai Production DB l Thai Electronic DB l Thai Construction DB l สลายไขมัน l 48onlinemarketing